เรียนต่อเยอรมนี – สามารถทำงานระหว่างเรียนได้หรือไม่
ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศยอดนิยมที่นักเรียนนักศึกษาสนใจในการเรียนต่อ เพราะค่าเทอมที่ถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และบางมหาลัยยังฟรีค่าเทอมให้กับนักศึกษาต่างชาติอีกด้วย นอกจากนี้น้อง ๆ ยังสามารถเรียนไปทำงานไปได้อีกด้วย วันนี้พี่ Owl จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานในระหว่างเรียนที่ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ การทำงานเสริมระหว่างเรียนที่เยอรมนีนั้น เป็นเพียงการหารายได้เสริมและหาประสบการณ์เพียงเท่านั้น ไม่แนะนำให้ทำงานเสริมโดยหวังพึ่งเป็นรายได้หลัก
1. นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานระหว่างเรียนได้หรือไม่?
คำตอบคือ ได้ค่ะ โดยนักเรียนต่างชาติ (หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้มาจากประเทศที่เข้าร่วมในสหภาพยุโรป หรือ non-EU/EEA Student) และต้องถือวีซ่านักเรียน จึงจะสามารถทำงานพิเศษได้ แบ่งเป็น
- ทำงานเต็มวัน (Full Day) 120 วันต่อปี
- ทำงานครึ่งวัน (Half Day) 240 วันต่อปี
โดยงานเต็มวัน หมายถึงงานที่ทำ 8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนงานครึ่งวัน หมายถึงงานที่ทำ 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนักเรียนสามารถทำงานภายใต้ข้อกำหนดนี้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก Federal Employment Agency (BA)
ยกเว้น การทำงานเป็นผู้ช่วยวิชาการ (Academic Assistant) สามารถทำงานได้ไม่จำกัดจำนวนวัน แต่ยังคงต้องแจ้งให้สำนักงานคนต่างด้าว (the Aliens Department) ทราบก่อน หากไม่แน่ใจว่างานที่ทำอยู่ในหมวดหมู่ใด สามารถขอคำแนะนำจากบริการนักศึกษาหรือสำนักงานระหว่างประเทศได้
*การฝึกงาน หากนักเรียนต้องการฝึกงานช่วงปิดภาคเรียน การฝึกงานในแต่ละวันจะถูกหักออกจากจำนวนวันรายปี (120 วัน) แม้ว่าจะได้เงินตอบแทนหรือไม่ก็ตาม แต่หากการฝึกงานเป็นภาคบังคับของหลักสูตรของนักเรียน จะไม่ถูกหักจากจำนวนวันทำงานรายปี
2. นักเรียนต่างชาติที่ถือวีซ่าเรียนภาษาสามารถทำงานได้หรือไม่?
สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าเรียนภาษา หรือ นักเรียนของหลักสูตรเตรียมความพร้อม (Studienkolleg) สามารถทำงานได้เฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน หรือ ช่วงที่ไม่มีการเรียนการสอน โดยต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างประเทศ (Immigration Office and the Federal Employment Agency) ก่อน
3. นักเรียนสามารถทำเงินได้สูงสุดเท่าไร?
ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายทั่วไปมีผลบังคับใช้ในประเทศเยอรมนีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2015 โดยผ่านการแก้ไขกฎหมายครั้งเดียว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะอยู่ที่ 12.00 ยูโรต่อชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022
(ที่มา: https://www.bmas.de/EN/Labour/Minimum-Wage/minimum-wage.html)
รายได้โดยประมาณที่นักเรียนสามารถทำได้
- นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานเต็มวันได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับ 8 x 12 = 96 ยูโรต่อวัน (ประมาณ 3,648 บาท)
- นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานครึ่งวันได้ 4 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับ 8 x 12 = 48 ยูโรต่อวัน (ประมาณ 1,824 บาท)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าแรงขั้นต่ำอาจเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะงานที่ทำ และ เมืองที่นักเรียนอาศัยอยู่ เพราะแต่ละเมืองค่าครองชีพจะไม่เท่ากัน
ไม่แนะนำให้ทำงานเสริมเพื่อใช้เป็นรายได้หลักระหว่างการไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี เพราะ ผู้ถือวีซ่านักเรียนและวีซ่าเรียนภาษาจะต้องมีหลักฐานว่ามีเงินเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายได้ โดยการเปิดบัญชีประเภท Blocked Account อยู่แล้ว
4. นักเรียนที่ทำงานเสริมต้องเสียภาษีหรือไม่?
หากนักเรียนมีรายได้มากกว่า 520 ยูโรต่อเดือนเป็นประจำ นักเรียนจำเป็นจะต้องมีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จากนั้นจะมีการหักเงินจำนวนหนึ่งจากเงินเดือนทุกเดือน ซึ่งสามารถได้รับคืนเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีของเยอรมนีในช่วงปลายปี
5. นักเรียนสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?
น้อง ๆ นักเรียนควรเริ่มเลือกอาชีพจากความถนัดของตัวเอง หรือ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่กำลังศึกษาอยู่ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเพื่อนำประสบการณ์นี้ไปใส่ใน CV เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานต่อเมื่อเรียนจบ หรือบริษัทที่น้อง ๆ ไปทำงานพาร์ทไทม์อาจเล็งเห็นศักยภาพและติดต่อให้ทำงานต่อหลังจากเรียนจบเลย
อาชีพแนะนำสำหรับนักเรียนต่างชาติมีดังนี้
- Student assistant (10 – 17 euro/hour)
- Tutor (12 – 15 euro/hour)
- Courier (9 – 12 euro/hour)
- Waiting Tables (7 – 10 euro/hour)
- Office Assistant (12 euro/hour)
- Industrial Production Assistant (12 euro/hour)
- Assistant to Shopping (9 – 10 euro/hour)
- Babysitting (10 – 15 euro/hour)
- Call Center Operator (15 euro/hour)
- Field Interviewer (18 – 20 euro/hour)
ที่มา : https://www.instarem.com/blog/10-highest-paying-part-time-jobs-for-students-in-germany/
6. สามารถหางานเสริมได้จากที่ไหนบ้าง?
- บอร์ดประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย : ส่วนใหญ่ประกาศหางานสำหรับนักเรียนนักศึกษาจะติดประกาศไว้ที่กระดานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย หรือ เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
- เซลล์จัดหางานของมหาวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีเซลล์จัดหางานเป็นของตัวเองเพื่อช่วยให้นักศึกษาหางานนอกเวลา โดยเซลล์จะทำหน้าที่ติดต่อกับบริษัท หรือ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้นักศึกษามีโอกาสหางานที่เหมาะกับตัวเองง่ายขึ้น
- เพื่อน หรือ คนรู้จัก : นักเรียนสามารถสอบถามข้อมูลเรื่องงานพาร์ทไทม์กับคนรู้จักหรือนักเรียนชาวเยอรมันได้ วิธีนี้จะสามารถได้งานที่น่าเชื่อถือและมีคนแนะนำในการเริ่มสมัครงานอีกด้วย
- เว็บไซต์หางาน : นายจ้างจะโพสต์ตำแหน่งงานว่างในเว็บไซต์รับสมัครงานไม่ว่าจะเป็น รายละเอียดงาน ข้อกำหนดของงาน ค่าตอบแทน และรายละเอียดอื่น ๆ จะถูกโพสต์บนเว็บไซต์เหล่านี้สำหรับตำแหน่งงานว่างทั้งหมด เช่น
– https://www.appjobs.com/berlin
– https://www.youngcapital.de/nebenjob
– https://www.stellenwerk.de/
ถือว่าการไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีมากเลยนะคะ เพราะนอกจากหลักสูตรการศึกษาที่ทั้งดีเลิศและทันสมัยแล้ว ราคาค่าเทอมก็ถูกไปจนถึงไม่มีค่าใช้จ่ายเลย และนักเรียนยังมีโอกาสในการทำงานเสริม หรือ งานพาร์ทไทม์ในขณะที่เรียนได้อีกด้วย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การทำงานระหว่างเรียนที่ประเทศเยอรมนีนั้นถือเป็นการทำงานเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และสร้างคอนเนคชั่นเพื่อการทำงานในอนาคต หากมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศมาประดับ CV ของน้อง ๆ รับรองได้เลยว่าเส้นทางอาชีพในอนาคตของน้อง ๆ จะต้องสดใสแน่นอนค่ะ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี สามารถติดต่อ หรือ ปรึกษากับทาง Owl Education Thailand ได้ผ่านทางช่องทางติดต่อ เพจเฟสบุค หรือ ไลน์แอด ได้เลยนะคะ พี่ ๆ Owl ยินดีให้คำปรึกษาค่า
เส้นทางสู่มหาวิทยาลัยในเยอรมนี
https://owl-education.com/studyabroad/study-germany/
ที่มา
https://www.make-it-in-germany.com/en/study-training/studies-in-germany/work
https://www.internationale-studierende.de/en/during-your-studies/jobbing
https://www.daad.de/en/study-and-research-in-germany/first-steps-germany/side-jobs/
https://www.study-in-germany.de/en/germany/everyday-life/work/
https://www.cbs.de/en/international/international-students/working-as-a-student-in-germany
เรียบเรียง : Saiparn Kanthida